,

คนกู้ร่วม vs คนค้ำประกัน แตกต่างกันอย่างไร ?

01:30


 


     การขอสินเชื่อบางประเภทนั้นจำเป็นที่ต้องต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน การใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกันก็เพื่อให้ธนาคารและสถาบันการเงินมีความมั่นใจมากขึ้นว่าสินเชื่อที่อนุมัติให้กับลูกค้านั้นมีจะได้รับเงินคืน หรือพูดง่าย ๆ ว่ามีโอกาสที่จะโดนเบี้ยวหนี้ได้น้อยลง เพราะมีหลักทรัพย์ให้ยึดไว้ขายเพื่อมาชำระหนี้หรือมีบุคคลค้ำประกันที่จะรับผิดชอบหนี้แทนหากลูกหนี้ไม่จ่ายเงิน

     สินเชื่อที่จำเป็นต้องมีบุคคลค้ำประกันก็เช่น สินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีมูลค่าของเงินกู้ยืมที่มาก เป็นหลักหลายแสนหรือหลายล้านบาทที่ต้องผ่อนชำระคืนกันนานบางทีเป็นสิบปีหรือเกินกว่านั้น ซึ่งต่างจากสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคลที่ไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน วงเงินที่ให้ก็ไม่มากนักอยู่ที่สูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของรายได้

     นอกจากการใช้บุคคลค้ำประกันเพื่อให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นแล้ว การหาผู้กู้ร่วมก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้มีโอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น เพราะเมื่อธนาคารหรือสถาบันการเงินพิจารณาก็จะนำรายได้ของผู้กู้ร่วมมาคิดด้วย รวมกับผู้กู้หลัก โอกาสได้รับอนุมัติจึงมากขึ้นและบางครั้งวงเงินที่ได้รับก็มากขึ้นด้วย


คนกู้ร่วมกับคนค้ำประกัน มีความแตกต่างกันอย่างไร

คนกู้ร่วม
     คือ บุคคลที่มากู้ร่วมกับลูกหนี้มีสถานะเป็นเหมือนลูกหนี้คนหนึ่ง ในขั้นตอนที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติสินเชื่อนั้น จะนำข้อมูลของผู้กู้ร่วมมาร่วมพิจารณาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ต่อเดือน ภาระหนี้สินที่มีอยู่ความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงประวัติในการชำระหนี้ด้วย เมื่อสินเชื่อได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว ผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วมก็จะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน

คนค้ำประกัน 

     คือ บุคคลที่มาค้ำประกันสินเชื่อให้กับลูกหนี้ โดยสถานะไม่ได้เป็นลูกหนี้ร่วมเหมือนกับคนกู้ร่วม สถานะจะเป็นเพียงแค่คนค้ำประกันที่เมื่อเกิดกรณีที่ลูกหนี้เบี้ยวไม่จ่ายหนี้ ธนาคารหรือสถาบันการเงินก็จะไปไล่เบี้ยเอาคืนกับคนค้ำประกัน เพราะการค้ำประกันถือว่าเป็นการสัญญาว่าจะชำระหนี้คืนแทน หากลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้คืนตามกำหนด

ความแตกต่างระหว่าง คนกู้ร่วมกับคนค้ำประกัน

  • คนค้ำประกันจะเป็นใครก็ได้จะเป็นคนที่มีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติหรือไม่ก็ได้ แต่คนกู้ร่วมจะต้องมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติเท่านั้น
     เช่น บิดา มารดา บุตร สามี ภรรยา พี่น้องพ่อแม่เดียวกันหรือญาติที่มีนามสกุลเดียวกัน
  • ธนาคารจะนำรายได้ ภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายของผู้กู้ร่วมมาร่วมพิจารณาเพื่ออนุมัติสินเชื่อรวมถึงเรื่องของวงเงินด้วย ในขณะที่คนค้ำประกันธนาคารจะไม่นำรายได้ของคนค้ำประกันมารวมคิดเพื่อพิจารณาอนุมัติจะยังคงพิจารณาเฉพาะรายได้ของผู้กู้เท่านั้น
  • คนค้ำประกันจะไม่มีโอกาสมีกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือรถยนต์ของลูกหนี้หลังจากผ่อนชำระคืนเรียบร้อย ในขณะที่คนกู้ร่วมมีโอกาสที่จะมีกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินทั้งบ้านและรถยนต์ที่ผู้กู้ร่วมมีชื่อเป็นผู้กู้อยู่ด้วยหากร่วมผ่อนกับเขาด้วย
  • คนค้ำประกันจะไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการชำระหนี้คืนปกติตามสัญญากู้ยืม ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของลูกหนี้ในขณะที่ผู้กู้ร่วมหากมีชื่อเป็นผู้กู้ร่วมและจะมีกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินหากผ่อนชำระเรียบร้อย ก็มักจะต้องมีส่วนในการจ่ายชำระหนี้คืนด้วย แต่กรณีของผู้กู้ร่วมนี้ก็แล้วแต่ตกลงกันด้วย เพราะมีบางกรณีที่แม้มีชื่อเป็นผู้กู้ร่วม แต่ก็ไม่ได้มีส่วนในการจ่ายชำระเงินผู้กู้หลักเป็นผู้จ่ายเพียงผู้เดียว ก็มีเช่นกัน
  • ผู้กู้ร่วมที่ร่วมผ่อนชำระสินเชื่อบ้านด้วย สามารถนำดอกเบี้ยจ่ายไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ ในขณะที่คนค้ำประกันไม่สามารถทำได้ เพราะไม่ได้มีส่วนในการร่วมผ่อนชำระหนี้ในกรณีปกตินี้ด้วย

ข้อที่เหมือนกันระหว่างคนค้ำประกันและผู้กู้ร่วม

  • ไม่ว่าจะเป็นคนค้ำประกันหรือคนกู้ร่วม ก็จะต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินกำหนดไว้ถึงจะผ่านเกณฑ์เป็นคนค้ำประกันหรือผู้กู้ร่วมได้
  • คนค้ำประกันหรือคนกู้ร่วมต่างก็ต้องไม่ติดเครดิตบูโร มีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดี จึงจะสามารถเป็นคนค้ำประกันและผู้กู้ร่วมได้
  • เมื่อไหร่ที่ลูกหนี้หรือผู้กู้หลักเบี้ยวหนี้ ไม่ชำระคืนเงินตามที่กำหนด เมื่อนั้นสถานะของทั้งคนค้ำประกันและผู้กู้ร่วมก็ไม่ต่างกัน เพราะต่างก็ต้องรับผิดชอบในมูลหนี้ทั้งหมดที่ค้างอยู่กับธนาคารและสถาบันการเงินนั้นทันที ต่างกันนิดเดียวตรงที่คนค้ำประกันจะรับผิดชอบเฉพาะหนี้ที่ระบุไว้ในสัญญา ในขณะที่ผู้กู้ร่วมจะต้องรับผิดชอบในฐานะลูกหนี้คนหนึ่ง เมื่อถึงขั้นต้องฟ้องร้องกัน ธนาคารและสถาบันการเงินก็มักจะฟ้องทั้งลูกหนี้ คนค้ำประกัน ผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วม เรียกว่าฟ้องไล่เอากับทุกคน
ที่มา: https://moneyhub.in.th/article/co-borrower-and-guarantor/

You Might Also Like

0 ความคิดเห็น

SUBSCRIBE NEWSLETTER

Get an email of every new post! We'll never share your address.

Popular Posts

Blog Archive